นวัตกรรมการตรวจและการรักษา ไขมันคั่งสะสมในตับ
“ไขมันคั่งสะสมในตับ” เป็นสาเหตุโรคตับที่พบได้บ่อยในปัจจุบัน และสามารถมีการดำเนินโรคไปเป็นตับแข็งและมะเร็งตับได้ รวมทั้งเพิ่มความเสี่ยงในการชี้วัดจากโรคหัวใจขาดเลือดและโรคตับ ในฉบับนี้จะขอกล่าวถึงวิธีการวินิจฉัยโรคและการรักษา การวินิจฉัยโรคไขมันคั่งสะสมในตับ ทางคลินิกมักจะอาศัยดูลักษณะกลุ่มโรค Metabolic syndrome คือ อ้วน, เบาหวาน, ไขมันในเลือดสูง มีค่า HDL ต่ำ และความดันโลหิตสูง ร่วมกับดูว่าไม่มีสาเหตุอื่นที่ทำให้เกิดไขมันคั่งสะสมในตับ
อย่างไรก็ตามผู้ป่วยไขมันคั่งสะสมในตับอาจจะไม่มีลักษณะของ Metabolic syndrome ในช่วงเวลาที่มาพบแพทย์ ที่สำคัญคือสุรา เป็นสาเหตุของไขมันคั่งสะสมในตับที่พบได้บ่อย ดังนั้นต้องแยกให้ได้ก่อนว่าผู้ป่วยไม่ได้ดื่มสุรา หรือดื่มปริมาณน้อยกว่าที่จะทำให้เกิดโรคตับ ระดับปริมาณการดื่มสุราที่จะทำให้เกิดโรคตับคือ 20 กรัมต่อวัน ในผู้หญิง หรือ 40กรัมต่อวัน ในผู้ชาย หรือวิธีง่ายๆ คือการดื่มสุราน้อยกว่า 14 ยูนิตต่อสัปดาห์ จะไม่ให้เกิดโรคตับ ในคนปกติที่มีโรคตับอย่างอื่นร่วม 1 ยูนิต โดยประมาณจะใกล้เคียงกับ เบียร์ 1 กระป๋อง , ไวน์ 1 แก้วไวน์ , วิสกี้ 1 ฝา
ในการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติมเพื่อวินิจฉัยว่ามีไขมันคั่งสะสมในตับคือ การตรวจอัลตร้าซาวด์ซึ่งเป็นวิธีที่สะดวก อัลตร้าซาวด์จะเห็นตับขาวขึ้นกว่าปกติ แต่มีความไวไม่มาก จะเป็นลักษณะไขมันคั่งสะสมในตับเมื่อมีไขมันสะสมในตับมากกว่าร้อยละ 30 ในการตรวจที่ไวคือเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) หรือเอ็กซเรย์คลื่นสนามแม่เหล็ก (MRI) ซึ่งพบว่าจะเห็นเนื้อตับดำมากกว่าปกติ
ซึ่งสามารถตรวจพบตั้งแต่มีไขมันคั่งสะสมในตับร้อยละ 5-10 ใน MRI รุ่นใหม่สามารถวัดปริมาณไขมันในตับทางอ้อมได้ด้วย ในปัจจุบันมีการใช้เครื่อง Fibroscan ซึ่งใช้วัดผังผืดในตับได้ด้วยว่ามีผังผืดในตับมากแค่ไหน มีตับแข็งไหม เครื่อง Fibroscan รุ่นใหม่สามารถวัดปริมาณไขมันในตับได้ด้วย หลังจากวินิจฉัยได้ว่ามีไขมันคั่งสะสมในตับแล้ว ต้องตรวจคัดสาเหตุของไขมันคั่งสะสมในตับที่ทราบสาเหตุออกไปด้วย เช่น ไวรัสซีเรื้อรัง, ทองแดงคั่ง (Wilson’s disease) เป็นต้น
ในผู้ป่วยอาจต้องการการเจาะชิ้นเนื้อตับมาตรวจ เช่น ผู้ป่วยที่ไม่สามารถตัดสาเหตุจากโรคอื่นได้, ผู้ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษา การรักษาโรคไขมันคั่งสะสมในตับ หัวใจที่สำคัญในการรักษาไขมันคั่งสะสมในตับคือ การลดน้ำหนักในผู้ป่วยที่น้ำหนักเกิน การลดน้ำหนักควรเกิดจากการควบคุมอาหาร และการออกกำลังกายเป็นหลัก ในเรื่องการควบคุมอาหาร ควรลดปริมาณอาหารมื้อเย็นพยายามลดอาหารพวกแป้ง น้ำตาล และของมัน อาหารที่ดีของผู้ป่วยโรคไขมันคั่งสะสมในตับคืออาหารที่มีกากสูง เช่น ผัก อาหารโปรตีนที่ดีคือ ถั่วเหลือง กรณีโปรตีนจากสัตว์ควรเป็นเนื้อแดง และสัตว์ทะเลที่มันไม่สูงแต่มีโอเมก้า 3 สูง เช่น ปลาทูน่า, ปลาแซลมอน, ปลาซาดีน ควรรับประทานจำพวก ต้ม นึ่ง ถ้าให้ดีใช้น้ำมันมะกอกในการทำอาหาร ผลไม้ที่ดีควรเป็นผลไม้ที่ไม่หวานมาก เช่น ฝรั่ง และแอปเปิ้ล เพราะมีวิตามินซีสูงด้วย สำหรับคนที่ดื่มกาแฟ
การศึกษาพบว่ากาแฟมีฤทธิ์เป็น antioxidant จึงดี แต่ควรดื่มกาแฟดำ ไม่ใส่นมและน้ำตาล ผู้ป่วยไขมันคั่งสะสมในตับไม่ควรดื่มสุรา เพราะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งตับมากขึ้น แม้ดื่มในปริมาณน้อยกว่าระดับที่ทำให้เกิดโรคตับ การออกกำลังกายเป็นสิ่งสำคัญ ควรออกกำลังกายสม่ำเสมอประมาณ 30 –60 นาที ต่อวัน ในการลดน้ำหนักไม่ควรลดลงเร็วมากเกินไป
โดยเฉพาะอย่างยิ่งลดโดยการงดไม่รับประทานอาหาร การลดน้ำหนักเร็วเกินไปจะทำให้เกิดตับอักเสบรุนแรงได้ ในทางปฏิบัติไม่ควรลดน้ำหนักเกิน 1.6 กิโลกรัมต่อสัปดาห์ ยาที่ใช้รักษาโรคไขมันคั่งสะสมในตับที่สำคัญ คือยากระตุ้นความไวอินซูลินในกรณีที่มีเบาหวาน หรือมีภาวะดื้ออนซูลิน ยากลุ่มนี้ เช่น Metformin ยาลดไขมันในเลือดในกรณีผู้ป่วยที่มีไขมันในเลือดสูง ในกรณีที่ยังมีการอักเสบของตับ แพทย์จะพิจารณาให้ยาที่มีฤทธิ์ในการลดการอักเสบ เช่น พวก antioxidants ผู้ป่วยไขมันคั่งสะสมในตับ ควรติดตามดูแลรักษากับแพทย์อย่างต่อเนื่อง เพื่อดูการตอบสนองต่อการรักษา เฝ้าระวังการดำเนินของโรค และติดตามดูโรคอื่นใน Metabolic syndrome ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
ศูนย์โรคตับ และระบบทางเดินอาหาร ชั้น 11 อาคาร C
โทร 038-320-300 ต่อ 5101, 5102
25 ธันวาคม 2566
พญ.หนึ่งฤทัย ภิรมย์
ความชำนาญ : อายุรศาสตร์, โรคระบบทางเดินอาหาร
นพ.จิตต์พัฒน์ ถนอมธีระนันท์
ความชำนาญ : อายุรกรรม, โรคระบบทางเดินอาหาร
นพ.นนทพรรธน์ กันตถาวร
ความชำนาญ : อายุรศาสตร์, โรคระบบทางเดินอาหาร
พญ.ปัทมา เกียรติภาพันธ์
ความชำนาญ : อายุรศาสตร์, โรคระบบทางเดินอาหาร