การสวนหลอดเลือด ทำได้ทั่วร่างกาย
การสวนหลอดเลือด ทำได้ทั่วร่างกาย
การสวนหลอดเลือดหัวใจ คือ การใส่ท่อเล็ก ๆ ขนาด 2-3 มิลลิเมตรผ่านทางหลอดเลือดแดงที่ขาหนีบหรือข้อมือ ผ่านเข้าไปตามหลอดเลือดแดงใหญ่เข้าสู่หลอดเลือดแดงที่หัวใจ ซึ่งหลักๆ แล้ววิธีการนี้จะใช้เพื่อการวินิจฉัยและรักษา โรคหลอดเลือดหัวใจตีบเป็นหลัก แต่ไม่ได้หมายความว่าการสวนหลอดเลือดจะทำได้แค่ที่หัวใจที่เดียว วิธีการนี้สามารถทำได้กับหลอดเลือดทั่วร่างกาย คือสามารถสวน หลอดเลือดที่แขน ขา สมอง หรือไตก็ได้ โดยใช้รักษาโรต่างๆได้ เช่น หลอดเลือดหัวใจตีบ หลอดเลือดไตตีบ หลอดเลือดสมองตีบ หลอดเลือดในช่องท้องโป่งพอง สามารถเปลี่ยน หรือซ่อมลิ้นหัวใจได้โดยไม่ต้องผ่าตัด และแก้ไขผนังกั้นห้องหัวใจรั่วได้
หลอดเลือดของร่างกายอุดตัน
นอกเหนือจากเส้นเลือดหัวใจ ยังสามารถพบหลอดเลือดส่วนอื่นในร่างกายที่มีการตีบหรืออุดตันได้เช่นกัน โดยโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายอุดตันมักมีสาเหตุมาจากการมีไขมันหรือหินปูนไปเกาะที่ผนังเส้นเลือด จนเกิดการอักเสบ เกิดพังผืดไปเกาะสะสมบริเวณดังกล่าว สุดท้ายรูของผนังเส้นเลือดจะแคบและตีบลง โดยกระบวนการนี้เรียกว่า Atherosclerosis เมื่อเกิดการอุดตันของเส้นเลือดแดง จะทำให้เลือดไหลผ่านได้น้อยลง และทำให้เลือดไปเลี้ยงอวัยวะส่วนปลายของเส้นเลือดนั้นไม่เพียงพอ โรคนี้มักเกิดในผู้ป่วยสูงอายุ และมีปัจจัยเสี่ยงในผู้ที่สูบบุหรี่, ผู้ป่วยโรคเบาหวาน, โรคความดันโลหิตสูงและโรคไขมันในเลือดสูง เช่น หลอดเลือดแดงส่วนปลายอุดตันที่ขา (Peripheral Arterial Disease, PAD) ซึ่งในการรักษาจะใช้วิธีการขยายเส้นเลือดด้วยบอลลูน โดยการทำ Angioplasty คล้ายกับการรักษาเส้นเลือดหัวใจ ถือได้ว่าเป็นทางเลือกที่ดีอย่างหนึ่งในการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน
หลาย ๆท่านอาจจะกังวลถึงความน่ากลัวและความยุ่งยากในการทำ แต่ในความเป็นจริงแล้วขั้นตอนไม่ได้น่ากลัวและยุ่งยากอย่างที่หลายคนกังวล เมื่อแพทย์ได้วินิจฉัยแล้วว่าคนไข้มีความจำเป็นที่จะต้องเข้ารับการ สวนหลอดเลือด ก็จะให้คนไข้เตรียมตัวเหมือนเข้าผ่าตัดทั่วไป คือ ให้งดน้ำและอาหารต่าง ๆ เป็นเวลาอย่างน้อย 6 ชม โดยทั่วไปผู้ป่วยไม่ต้องดมยา จากนั้นแพทย์ก็จะทำการฉีดยาชาตรงตำแหน่งที่จะใส่สายสวนหลอดเลือด จากนั้นจะใช้เข็มเจาะหลอดเลือดแดงแล้วใส่ท่ออ่อนเล็ก ๆ ขนาดเท่าไส้ดินสอดำไว้ ตามด้วยสายสวนเล็ก ๆ ผ่านหลอดเลือดแดง เข้าไปตามอวัยวะที่ต้องการรักษา ซึ่งใช้เวลาในการทำหัตถการ ประมาณ 1 – 2 ชั่วโมง ผู้ป่วยจะมีแผลขนาดเล็ก หรือราว 1.6 มม.เท่านั้น ซึ่งแผลจะปิดสนิทใน 6-8 ชม. ผู้ป่วยนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลเป็นระยะเวลาเพียง 1 วัน เพื่อดูอาการต่อ หากไม่มีภาวะแทรกซ้อนก็สามารถกลับบ้านได้
จึงกล่าวได้ว่า เป็นเทคนิคที่ช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไม่เจ็บ แผลเล็ก ใช้เวลาพักฟื้นสั้น โดยที่ความสำเร็จมีมากกว่า 90 %
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
ศูนย์โรคหัวใจและหลอดเลือด ชั้น 4 อาคาร C
โทร 038-320300 ต่อ 4170-1
25 ธันวาคม 2566
นพ.สราวุธ ลิ้มตั้งตุระกูล
ความชำนาญ : อายุรศาสตร์โรคหัวใจ, หัตถการปฏิบัติรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือด