ไขมันพอกตับ โรคฮิตของคนยุคใหม่
โดยปกติไขมันในร่างกายจะเป็นแหล่งพลังงาน เมื่อไหร่ที่เกิดการอดอาหาร ร่างกายก็จะดึงไขมันมาใช้เป็นพลังงานทดแทน โดยแหล่งที่เก็บไขมันในร่างกาย จะมีอยู่ 2 แหล่งใหญ่ๆ คือ หน้าท้องหรือที่พุง และอีกแหล่งซึ่งเป็นแหล่งที่ใหญ่ก็คือที่ตับ ไขมันที่ตับนี่นับว่าเป็นแหล่งพลังงานที่ใหญ่ที่สุด หากเกิดการสะสมของไขมันที่ตับมากๆ ก็จะเกิดภาวะไขมันพอกตับ
ไขมันนั้นก็เกิดมาจากการที่เราทานอาหารไขมันสูง ดื่มแอลกฮอล์นั้นเอง ซึ่งถ้าเกิดภาวะไขมันพอกตับก็จะส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพ และเป็นตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดโรคตับแข็ง และมะเร็งตับ หากมีภาวะของไขมันพอกตับ คือการสะสมของไขมันเข้าไปในเซลล์ตับต่อเนื่องเป็นเวลานาน ก็จะส่งผลให้เกิดการอักเสบของเนื้อตับได้และส่งผลกระทบต่อระบบต่างๆ ในร่างกายตามมาทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนอื่นๆ โดยเฉพาะโรคเรื้อรังต่างๆ อาจเป็นโรคที่เป็นอยู่เดิม เช่น โรคเบาหวาน ตับอักเสบจากไวรัสชนิดต่างๆ โรคอ้วน ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดหัวใจตีบ หากมีการอักเสบของตับเป็นเวลานาน ก็ส่งผลให้เกิดการทำลายของเซลล์ตับและการมีแทนที่ด้วยพังผืด จนในที่สุดจะทำให้เกิดตับแข็ง ไขมันพอกตับ และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิด มะเร็งตับได้
อาการของโรคไขมันพอกตับ
สำหรับอาการของโรคไขมันพอกตับนั้น เป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงเพราะ ส่วนใหญ่ในระยะแรกๆ ของโรค นั้นไม่แสดงอาการ หรือหากมีอาการก็อาจเป็นอาการที่ไม่เฉพาะเจาะจงมากพอที่จะบ่งบอกโรคได้ เช่น อ่อนเพลีย คลื่นไส้เล็กน้อย รู้สึกตึงบริเวณใต้ชายโครงขวา เนื่องจากโรคที่เกี่ยวกับตับนั้น เป็นโรคที่มีการดำเนินโรคค่อนข้างช้าไม่ใช่ว่าใช้เวลาแค่ 1 หรือ 2 ปีจะเกิดปัญหา แต่ต้องใช้เวลานานกว่าโรคไขมันพอกตับจะดำเนินไปอีกขั้น โดยส่วนใหญ่การตรวจพบโรคไขมันพอกตับจึงมักพบเมื่อผู้ป่วยเข้ารับการเจาะเลือดตรวจสุขภาพประจำปี หรือตรวจทางการแพทย์ด้วยเหตุผลอื่นๆ ซึ่งในบางรายพอเริ่มตรวจพบไขมันพอกตับก็อาจกลายเป็นภาวะตับแข็งแล้วก็เป็นได้
เราสามารถป้องกัน วินิจฉัยว่ามีไขมันพอกตับหรือไม่ได้อย่างไร ?
การตรวจวินิจฉัยภาวะไขมันพอกตับสะสมในตับทำได้โดยการตรวจเลือด ตรวจอัลตร้าซาวด์ช่องท้องส่วนบน หรือการตรวจวัดปริมาณไขมันในตับ ซึ่งในปัจจุบันไม่จำเป็นที่ต้องตรวจโดยการเจาะตรวจเนื้อตับแล้ว เนื่องจากสามารถใช้การตรวจด้วยเครื่องมือพิเศษเพื่อเปรียบเทียบปริมาณไขมันในตับได้ที่เรียกว่า ( Fibro Scan-CAP)
ใครบ้างที่ควรตรวจไฟโบรสแกน?
- ผู้ป่วยโรคตับที่มีผลเลือดค่าการทำงานตับ AST/ALT มากกว่า 1 เพราะมีโอกาสเป็นโรคตับแข็ง
- มีเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี
- ดื่มเหล้าเป็นเวลานาน
- ทานยา, สมุนไพร ติดต่อกันเป็นเวลานาน
- ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ซึ่งจะมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งตับมากกว่าคนปรกติ ถึง 4 เท่า
- อ้วนลงพุง หรือน้ำหนักเกิน
- กลุ่มภาวะไขมันพอกตับที่อายุมากกว่า 45 ปี
ข้อดีของการตรวจตรวจตับด้วยไฟโบรสแกน (Fibro Scan)
- ตรวจง่าย ได้ผลเร็ว
- ไม่ได้รับความเจ็บปวดใดๆ
- สามารถช่วยวินิจฉัยผู้ที่เป็นตับแข็งในระยะเริ่มแรก
- เพื่อติดตามผล และประเมินระดับความรุนแรงของตับแข็ง และช่วยในการวางแผนรักษาไขมันพอกตับต่อไป
- อาจใช้แทนการเจาะเนื้อตับในผู้ป่วยที่มีข้อห้าม หรือปฎิเสธการเจาะตับ
- ประเมินปริมาณไขมันสะสมในตับสำหรับผู้ป่วยที่มีโรคไขมันเกาะตับ (Fatty Liver) ได้พร้อมกันภายในครั้งเดียว
เพราะภาวะไขมันพอกตับเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดภาวะตับแข็งและมะเร็งตับ เราจึงควรดูแลสุขภาพร่างกาย โดยการควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสม ควบคุมอาหารและออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ และหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล เพื่อป้องกันการเกิดภาวะไขมันพอกตับ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
ศูนย์เฉพาะทางโรคตับและระบบทางเดินอาหาร ชั้น 4 อาคาร C
โทร 038-320-300 ต่อ 5101-5102
25 ธันวาคม 2566
นพ.จิตต์พัฒน์ ถนอมธีระนันท์
สาขา
อายุรศาสตร์ระบบทางเดินอาหาร