7 เรื่องที่ผู้หญิงต้องรู้
แม้มะเร็งปากมดลูกจะพบมากเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งเต้านม แต่กลับเป็นสาเหตุการเสียชีวิตจากมะเร็งอันดับหนึ่งของหญิงไทย เนื่องจากมะเร็งปากมดลูกในระยะเริ่มแรกหรือระยะก่อนเป็นมะเร็งนั้นผู้ป่วยจะไม่มีอาการใดๆ รวมทั้งหญิงไทยมีความอาย กว่าจะมารับการตรวจโรคก็อาจเข้าสู่ระยะที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้จนต้องเสียชีวิตในที่สุด หากเราเรียนรู้และทำความเข้าใจ ก็จะช่วยป้องกันสาวๆ ให้ห่างไกลจากมะเร็งปากมดลูกได้
1. มะเร็งปากมดลูกเกิดได้กับผู้หญิงทุกคนทั้งที่เคยมีเพศสัมพันธ์และไม่เคย
สาเหตุของมะเร็งปากมดลูกกว่า 90% เกิดจากการติดเชื้อไวรัส HPV (Human Papillomavirus) ส่วนใหญ่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ส่วนน้อยติดต่อทางการสัมผัส มักพบบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ภายนอกของผู้หญิงบริเวณปากมดลูก ช่องคลอดและอวัยวะเพศ ทั้งนี้ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ผู้หญิงมีโอกาสเป็นโรคมะเร็งปากมดลูก เช่น มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย เปลี่ยนคู่นอนบ่อย มีบุตรหลายคน สูบบุหรี่ รวมถึงการมีปัญหาระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น เป็นโรคแพ้ภูมิตัวเอง (SLE) เป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี
2. ฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน ต่อต้านเชื้อ HPV
ก่อนมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก สามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุตั้งแต่ 9 – 26 ปี โดยฉีดจำนวน 3 เข็ม ซึ่งวัคซีนช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้ถึง 70 % หากเคยมีเพศสัมพันธ์แล้วก็ฉีดได้เช่นกัน แต่ในกรณีนี้วัคซีนจะมีประสิทธิภาพดีก็ต่อเมื่อไม่เคยได้รับเชื้อ HPV สายพันธุ์ที่บรรจุอยู่ในวัคซีนมาก่อน
3. ควรตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก
ภายใน 3 ปีหลังการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก สำหรับคนที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์อาจเริ่มตรวจได้ตั้งแต่อายุ 30 ปีขึ้นไป โดยตรวจพร้อมๆ กับการตรวจสุขภาพประจำปี ด้วยการตรวจตินเปร็ป (ThinPrep) ร่วมกับการตรวจหาเชื้อ HPV
4. ThinPrep การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก
ให้ผลการตรวจที่ละเอียดกว่า เป็นการตรวจทางเซลล์วิทยาเช่นเดียวกับแปปสเมียร์มาตรฐานเดิม (Pap test) ซึ่งปัจจุบันนิยมการตรวจ Thin Prep ร่วมกับการตรวจ HPV Testing ซึ่งเป็นเทคนิคการตรวจทางด้านชีวโมเลกุลมีความแม่นยำสูง สามารถตรวจหาความผิดปกติของเซลล์ปากมดลูกและเชื้อ HPVชนิดก่อมะเร็ง ตั้งแต่เนิ่นๆ หรือ หากผลการตรวจปกติ สามารถเว้นระยะเวลาการตรวจได้ถึง 2 ปี อย่างปลอดภัย
5. ตรวจพบความผิดปกติของเซลล์
หากพบความผิดปกติของเซลล์ปากมดลูกได้ตั้งแต่ในระยะก่อนเป็นมะเร็ง สามารถรักษาให้หายขาดได้
6. ตรวจแล้วก็ยังเสี่ยง
มะเร็งปากมดลูกเป็นโรคที่มีกระบวนการเกิดโรคที่ช้า ใช้เวลาในการพัฒนาเป็นมะเร็งนาน แต่สามารถรักษาให้หายได้ถ้ารู้ตัวก่อน ดังนั้นการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกจึงควรทำอย่างสม่ำเสมอตามคำแนะนำของแพทย์ผู้ดูแล
7. มะเร็งปากมดลูกระยะเริ่มต้นมักไม่มีอาการ
แต่หากมีเลือดออกผิดปกติจากช่องคลอด มีประจำเดือนนานจนผิดปกติ หรือมีเลือดออกจากช่องคลอดในช่วงวัยหมดประจำเดือนแบบถาวรไปแล้ว ควรรีบไปพบสูตินรีแพทย์เพื่อการตรวจวินิจฉัยที่แน่นอน หรือหากมะเร็งได้ลุกลามไปมากขึ้น อาจลามไปยังอวัยวะอื่นๆ ส่งผลให้มีอาการปวดหลัง ปัสสาวะหรืออุจจาระเป็นเลือด หรือไตวายเฉียบพลันได้
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
ศูนย์สุขภาพสตรี
ชั้น 2 ตึก C
โทร. 038-320300 ต่อ 1298-9
31 กรกฎาคม 2565
นพ.ยุทธศิลป์ เลื่อมประภัศร์
สาขา
สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา มะเร็งวิทยาทางนรีเวช