โรคหลอดเลือดสมอง
โรคหลอดเลือดสมอง (STROKE) เป็นโรคที่พบได้บ่อยที่สุดในปัจจุบัน เป็นภาวะที่สมองขาดเลือด ซึ่งเกิดจากการตีบ อุดตัน หรือแตกของหลอดเลือดบริเวณสมอง ทำให้เนื้อเยื่อสมองถูกทำลายและส่งผลต่อการทำงานของสมอง เช่นหยุดชะงัก หรือในบางรายอาจเป็นอัมพาตแบบเฉียบพลัน ไม่สามารถพูดหรืออาจมองไม่เห็น โดยสาเหตุหลักเกิดจากการอุดตันของหลอดเลือดที่ลำเลียงไปเลี้ยงสมอง ทำให้สมองไม่ได้รับออกซิเจนและสมองตายในที่สุด
ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดในสมอง (STROKE)
แบ่งออกเป็น 2 ปัจจัย ได้แก่
ปัจจัยที่ไม่สามารถป้องกันได้ เช่น
- อายุ
- เพศ
- ภาวะเลือดแข็งตัวเร็วกว่าปกติ
ปัจจัยที่สามารถป้องกันได้ เช่น
- ภาวะความดันโลหิตสูง
- โรคเบาหวาน
- โรคไขมันในโลหิตสูง
- โรคหัวใจ
- การสูบบุหรี่
- การใช้ยาคุมกำเนิด
- การขาดการออกกำลังกาย
อาการของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง
สามารถสังเกตจากอาการผิดปกติได้โดยการสังเกตอาการที่สำคัญดังนี้
- แขน-ขาอ่อนแรง มีอาการชาที่ใบหน้าหรือบริเวณข้างใดข้างหนึ่งของร่างกาย
- ปากเบี้ยว พูดไม่ได้ ควบคุมน้ำลายไม่ได้ มีปัญหาทางการสื่อสาร พูดไม่เข้าใจ พูดไม่ได้ ลิ้นแข็ง
- ปวดศีรษะ เวียนศีรษะอย่างรุนแรงโดยไม่ทราบสาเหตุ
- สายตาพร่ามัว เสียการทรงตัว เห็นภาพซ้อน
- ทรงตัวไม่อยู่ เดินเซ บางรายอาจเป็นลมหมดสติ
หากพบอาการเหล่านี้แม้เพียงประการเดียว อย่าละเลยหรือนิ่งนอนใจเป็นอันขาด ควรรีบนำคนไข้ส่งโรงพยาบาลโดยทันทีเพื่อให้แพทย์ตรวจหาสาเหตุที่แท้จริงของอาการดังกล่าว
การตรวจวินิจฉัย
สามารถตรวจได้หลายวิธี เช่น ตรวจเลือดเพื่อดูระดับน้ำตาลในเลือด ระดับไขมันในเลือด ตรวจหาอาการอักเสบของหลอดเลือด ตรวจวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ตรวจวัดคลื่นไฟฟ้าของสมอง ตรวจวัดความเร็วของกระแสเลือด และการสแกนสมองเป็นต้น
การรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง
การรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองแบ่งออกเป็น 2 ส่วนได้แก่
ผู้ป่วยที่หลอดเลือดสมองตีบเฉียบพลัน
- แพทย์จะให้ยาละลายลิ่มเลือด แต่ต้องรักษาภายใน 4 ชั่วโมงเพื่อให้เลือดไหลเวียนตามปกติ
ผู้ป่วยที่หลอดเลือดสมองแตก
- แพทย์ต้องควบคุมปริมาณเลือด รักษาความดันเลือดให้เป็นปกติ บางรายแพทย์อาจต้องทำการผ่าตัดเพื่อป้องกันความเสียหายของสมองที่เกิดจากความเปลี่ยนแปลงของความดันเลือด
การป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง
การป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง ทำได้โดยควบคุมปัจจัยเสี่ยงที่สามารถควบคุมได้ เช่น ป้องกันไม่ให้ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ควบคุมอาหารให้สมดุล หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็ม รสหวาน อาหารที่มีไขมันสูง เลิกสูบบุหรี่และหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เป็นต้น นอกจากนี้สามารถใช้ยาป้องกันการอุดตันของหลอดเลือด เช่น ยากลุ่มต้านเกล็ดเลือด และยากลุ่มต้านการจับตัวของก้อนเลือด แต่การใช้ยารักษาต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
ศูนย์ระบบประสาทและสมอง ชั้น 1 อาคาร C
โทร 038-320300 ต่อ 4183-4
25 ธันวาคม 2566