ติดต่อสอบถาม 038-320-300

ต้อหิน (Glaucoma) ภัยเงียบคุกคามการมองเห็นในวัย 40+


ต้อหิน เป็นภัยเงียบที่คุกคามการมองเห็น เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่มักไม่สังเกตเห็นความผิดปกติจนโรคได้ลุกลามมากขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งเข้าสู่ระยะสุดท้าย โรคต้อหินจึงเป็นอีกหนึ่งสาเหตุหลักของการตาบอดถาวร โดยการสูญเสียการมองเห็นจากโรคต้อหินจะไม่สามารถรักษาให้หายได้

โรคต้อหินนั้นไม่ได้มีรูปร่างให้เห็นหรือมีหินเกิดขึ้นในดวงตา สาเหตุการเกิดมาจากการลดลงของเซลล์และเส้นใยประสาทในจอประสาทตา ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของขั้วประสาทตาที่เป็นที่รวมของเส้นใยประสาทตานำกระแสประสาทการมองเห็นไปแปลผลที่สมอง ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของลานสายตาหรือความกว้างของการมองเห็นตามมา โดยระยะแรกจะมีการสูญเสียลานสายตารอบนอก แต่การมองเห็นตรงกลางจะยังดีอยู่ ผู้ป่วยจึงสังเกตเห็นได้ยากทำให้ลานสายตาจะค่อยๆ แคบเข้าเรื่อยๆ ตามการดำเนินของโรคที่รุนแรงมากขึ้น จนเริ่มมีตามัวลงและตาบอดได้ในที่สุด โดยอาจพบร่วมกับภาวะความดันลูกตาสูงหรือไม่ก็ได้

ชนิดและอาการของโรคต้อหิน โรคต้อหินแบ่งได้เป็น 3 ชนิด ได้แก่


  1. ต้อหินปฐมภูมิ คือ ต้อหินที่ไม่มีสาเหตุการเกิดจากปัจจัยภายนอก
    • ต้อหินปฐมภูมิมุมเปิด เป็นต้อหินปฐมภูมิชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด แบ่งออกเป็นชนิดความดันลูกตาสูงและความดันลูกตาปกติ ในปัจจุบันยังไม่ทราบกลไกการเกิดที่ชัดเจน การดำเนินโรคมักเป็นไปอย่างช้าๆ ผู้ป่วยจึงมักไม่สังเกตเห็นความผิดปกติในระยะแรกของโรค ส่วนใหญ่มักทราบจากการตรวจพบโดยจักษุแพทย์ และเมื่อโรคดำเนินไปจนมีการสูญเสียลานสายตามากถึงระดับหนึ่ง ผู้ป่วยจึงจะเริ่มมีอาการตามัว มองเห็นได้แคบลง หรือมีความสามารถในการปรับการมองเห็นในที่สว่างและมืดลดลง
    • ต้อหินปฐมภูมิมุมปิด พบมากในคนเอเชีย เกิดจากการอุดกั้นการระบายน้ำในลูกตาที่มุมตา ทำให้ความดันลูกตาขึ้นสูง แบ่งออกเป็นชนิดเฉียบพลัน และชนิดเรื้อรัง โดยหากเป็นชนิดเฉียบพลัน ผู้ป่วยมักมีอาการปวดตา ตาแดง ตามัว เห็นรัศมีรอบดวงไฟ และอาจปวดศีรษะคลื่นไส้อาเจียนได้ จัดว่าเป็นภาวะเร่งด่วนที่ต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที เพื่อป้องกันการถูกทำลายของขั้วประสาทตา ส่วนชนิดเรื้อรังนั้นพบได้มากกว่า ผู้ป่วยอาจไม่มีอาการ หรือมีอาการปวดตาหรือปวดศีรษะเล็กน้อยเป็นๆ หายๆ ในระยะเวลาเป็นเดือนหรือเป็นปี
  2. ต้อหินทุติยภูมิ เกิดจากความผิดปกติอย่างอื่นของดวงตา เช่น เบาหวานขึ้นตา ต้อกระจกที่สุกมาก การอักเสบภายในดวงตา เนื้องอกและมะเร็งในลูกตา อุบัติเหตุต่อดวงตา ภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดตา และการใช้ยาบางชนิดเป็นเวลานาน เช่น ยาสเตียรอยด์
  3. ต้อหินตั้งแต่กำเนิดและในเด็กเล็ก เกิดจากความผิดปกติของดวงตาตั้งแต่ในครรภ์ ทำให้มีการระบายน้ำในลูกตาผิดปกติ โดยอาจมีความผิดปกติเฉพาะดวงตา หรือมีอาการผิดปกติทางร่างกายร่วมด้วย ผู้ป่วยมักมีอาการกลัวแสง เปลือกตากระตุก มีน้ำตาไหลเอ่อ หรือมารดาสังเกตเห็นว่าเด็กมีลูกตาดำใหญ่กว่าปกติ หรือมีตาดำขุ่น เป็นต้น

ปัจจัยเสี่ยงของโรคต้อหิน


  1. ความดันลูกตาสูง จัดว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุด เนื่องจากเป็นปัจจัยเสี่ยงเดียวที่สามารถควบคุมได้ โดยพบว่าความดันลูกตายิ่งสูง จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นต้อหินและทำให้การดำเนินโรคเร็วขึ้นได้
  2. อายุ ที่มากขึ้น จะเพิ่มโอกาสของการเป็นต้อหิน โดยพบว่าต้อหินปฐมภูมิมุมเปิดพบมากในคนที่มีอายุมากกว่า 40 ปี
  3. โรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด หรือโรคอื่นๆ ที่มีผลต่อการไหลเวียนเลือด อาจทำให้มีความผิดปกติของการไหลเวียนเลือดที่ขั้วประสาทตา ทำให้มีการตายของเซลล์และเส้นใยประสาทตาได้ง่ายขึ้น จนเกิดโรคต้อหินได้ นอกจากนี้ กลุ่มโรคทางกายที่อาจมีการอักเสบที่ดวงตาร่วมด้วย เช่น โรคข้อรูมาตอยด์ หากเป็นการอักเสบเรื้อรังก็อาจทำให้เกิดโรคต้อหินตามมาได้
  4. ประวัติครอบครัว หากมีคนในครอบครัวเป็นต้อหิน จะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นต้อหินได้ 4-5 เท่า
  5. การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาสเตียรอยด์ทั้งชนิดหยอด รับประทาน หรือฉีด หากใช้เป็นเวลานานจะทำให้ความดันลูกตาสูงขึ้น เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นต้อหินมากยิ่งขึ้น
  6. การได้รับอุบัติเหตุที่ลูกตา หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดทางตา
  7. โรคตาบางชนิด เช่น เบาหวานขึ้นตา การอักเสบภายในลูกตา โรคเม็ดสีกระจายในตาผิดปกติ หรือต้อกระจกบางชนิด เป็นต้น
  8. สายตาสั้นมากหรือยาวมาก โดยพบว่าคนที่มีสายตาสั้นมากๆ จะมีความเสี่ยงในการเกิดต้อหินมุมเปิดมากขึ้น ในขณะที่คนที่มีสายตายาวมากๆ จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดต้อหินมุมปิดมากยิ่งขึ้น

การวินิจฉัยโรคต้อหิน


การวินิจฉัยโรคต้อหินทำได้โดยการตรวจวัดระดับการมองเห็น การวัดค่าสายตาหักเหด้วยคอมพิวเตอร์ การตรวจตาทั่วไป การตรวจขั้วประสาทตา การตรวจดูมุมตา การวัดความดันลูกตา การวัดความหนาของกระจกตา และการตรวจพิเศษเพิ่มเติมเพื่อประเมินลักษณะและการทำงานของขั้วประสาทตา ได้แก่ การถ่ายรูปขั้วประสาทตา การตรวจขั้วประสาทตาด้วยเครื่องแยกชั้นจอประสาทตา และการตรวจลานสายตาด้วยเครื่องวัดลานสายตาอัตโนมัติ

การรักษาโรคต้อหิน

เนื่องจากการสูญเสียการมองเห็นจากโรคต้อหิน ไม่สามารถรักษาให้กลับมาเป็นปกติได้ การรักษาโรคต้อหินจึงมุ่งเน้นไปที่การชะลอการดำเนินของโรคให้เป็นมากขึ้นช้าและน้อยที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการสูญเสียลานสายตาจนถึงระดับที่กระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้ป่วย ซึ่งสามารถทำได้โดยการแก้ไขหรือลดปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคและทำให้ความรุนแรงของโรคเพิ่มขึ้น
            

ในปัจจุบัน การลดความดันลูกตา โดยการลดการผลิตและการเพิ่มการระบายของน้ำในลูกตา เป็นการแก้ไขปัจจัยเสี่ยงเดียวที่สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งโดยหลักแล้วสามารถทำได้ 3 วิธี ได้แก่ การใช้ยา การใช้เลเซอร์ และการผ่าตัด โดยทั่วไปมักเริ่มการรักษาด้วยการให้ยา ยกเว้นในผู้ป่วยบางรายที่มีข้อบ่งชี้ที่จำเป็นต้องใช้เลเซอร์ สามารถเริ่มการรักษาโดยการใช้เลเซอร์ได้ทันที หากควบคุมความดันลูกตาด้วยยาหรือเลเซอร์แล้วไม่ได้ผล จึงพิจารณาการผ่าตัดเพื่อทำทางระบายน้ำภายในลูกตาให้ออกสู่เนื้อเยื่อโดยรอบ ซึ่งจักษุแพทย์จะเป็นผู้เลือกวิธีการรักษาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย โดยพิจารณาจากชนิด ระยะ และความรุนแรงของโรค รวมไปถึงความร่วมมือของผู้ป่วยในการรักษาและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยแต่ละราย 


นอกจากนี้ ในกรณีของต้อหินทุติยภูมิ จะต้องทำการรักษาโรคและหลีกเลี่ยงภาวะที่เป็นสาเหตุของต้อหินด้วย เช่น ในโรคต้อหินที่เกิดจากการใช้สเตียรอยด์เป็นระยะเวลานาน ก็ควรลดหรือหยุดยาสเตียรอยด์ หรือเปลี่ยนไปใช้ยาชนิดอื่นทดแทน เป็นต้น ซึ่งจะต้องปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้งเมื่อมีการใช้ยา

โรคต้อหินเป็นโรคเรื้อรังที่ทำให้ค่อยๆ สูญเสียลานสายตาจากบริเวณรอบนอกเข้ามาเรื่อยๆ จนส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของผู้ป่วยและตาบอดถาวรได้ในที่สุด โดยจะเร็วหรือช้า ขึ้นอยู่กับชนิดของต้อหิน ระยะของต้อหินที่ตรวจพบ และประสิทธิภาพของการรักษา ดังนั้น ความร่วมมือของผู้ป่วยในการรักษาจึงมีความสำคัญมาก ผู้ป่วยจำเป็นจะต้องมาตรวจติดตามและรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ในกรณีที่รักษาด้วยยา ผู้ป่วยจะต้องเคร่งครัดในการใช้ยา และรายงานแพทย์ทุกครั้งหากเกิดปัญหาหรือมีอาการข้างเคียงจากการใช้ยา

การป้องกันโรคต้อหิน

เนื่องจากโรคต้อหินไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ดังนั้น การป้องกันที่ดีที่สุดคือการวินิจฉัยให้ถูกต้องตั้งแต่ระยะเริ่มต้น เพื่อที่จะได้รับการรักษาอย่างทันการและมีการพยากรณ์โรคที่ดี สามารถทำได้โดย

  1. การเข้ารับการตรวจตาจากจักษุแพทย์ปีละครั้ง โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี หรือมีปัจจัยเสี่ยงดังที่กล่าวไว้ข้างต้น
  2. หากมีอาการผิดปกติ เช่น ตามัว ปวดตา ปวดศีรษะ ตาแดง เห็นรัศมีรอบดวงไฟ ให้รีบมาพบจักษุแพทย์โดยเร็วที่สุด
        
  3. ไม่ซื้อยาหยอดตามาหยอดเองเป็นเวลานานๆ ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งเมื่อเกิดความผิดปกติที่ดวงตา
  4. พยายามรักษาควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงของโรคต้อหินให้ดี เช่น ในผู้ป่วยเบาหวานควรควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ 

  5. หากทำงานในสาขาที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุต่อดวงตา ควรใส่อุปกรณ์ป้องกันดวงตาทุกครั้ง
ข้อมูลโดย พญ. จิรัฐิสรวง ฐิติกุลวาณิช

25 ธันวาคม 2566

แพ็คเกจที่เกี่ยวข้อง

ดูทั้งหมด