ติดต่อสอบถาม 038-320-300

เมื่อหัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ – สาเหตุ อาการ การรักษา


     ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะเป็นภาวะที่การบีบตัวของหัวใจเสียไป เกิดจากการสร้างสัญญาณไฟฟ้าที่ผิดปกติ ทำให้การบีบตัวของหัวใจผิดปกติไปด้วย พบได้ในเพศชายได้มากกว่าเพศหญิง โดยปกติพบได้ 1-2 % และพบได้เพิ่มขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น ในผู้ที่อายุ 70 – 80 ปี อัตราส่วนเพิ่มขึ้นถึง 5 %


อาการ

เริ่มมีภาวะใจสั่นทั้งขณะพักหรือหลังมีกิจกรรม หอบเหนื่อยง่าย หรือเจ็บแน่นหน้าอก อาจมีอาการหน้ามืด อ่อนเพลีย ไม่มีแรง หมดสติได้ ในบางรายอาจเกิดจากภาวะแทรกซ้อนของโรค เช่น เส้นเลือดสมองอุดตัน ภาวะหัวใจล้มเหลว


วินิจฉัยเบื้องต้น

วินิจฉัยจากการจับชีพจร ถ้าชีพจรไม่สม่ำเสมอ หรือเต้นเร็ว ต้องไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ โดยจะวินิจฉัยจากคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่จังหวะไม่สม่ำเสมอ และมีความถี่ของ P wave มากกว่า 350 ครั้งต่อนาที


กลไกการเกิด

  1. จุดกำเนิดไฟฟ้าผิดปกติ (focal activation)
  2. วงจรไฟฟ้าหมุนวนหลายตำแหน่ง (multiple reentrant circuits)
  3. การเกิดร่วมกันระหว่างแบบที่ 1 และ 2


สาเหตุการเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ

  1. เกิดจากหลอดเลือดหัวใจโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นโรคทางกล้ามเนื้อหัวใจ เยื่อหุ้มหัวใจ หลอดเลือดหัวใจตีบ หรือว่าภาวะความดันโลหิตสูงที่ทำให้เกิดภาวะหัวใจตามมาได้
  2. เกิดจากผลของโรคระบบอื่นๆ พบได้บ่อยในกลุ่มผู้ป่วย ไทรอยด์เป็นพิษ ถุงลมโป่งพอง เกลือแร่บางอย่าง ผิดปกติ เช่น แมกนีเซียม โพรแทสเซียมต่ำ หรือ สารเสพติด ยากระตุ้นบางอย่าง รวมถึง ชาและกาแฟในปริมาณที่มากเกินไป สามารถกระตุ้นให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะได้
  3. เกิดขึ้นได้เองโดยไม่มีสาเหตุ (Idiopathic)


การรักษา

วัตถุประสงค์ของการรักษาหลักจะรักษาอาการ และลดผลแทรกซ้อนของตัวโรค

  1. การใช้ยาควบคุมอัตราการเต้นของหัวใจให้ไม่เร็วเกินไปทั้งในขณะพัก และในขณะที่ออกกำลัง
  2. การใช้ยาควบคุมจังหวะการเต้นหัวใจ จากจังหวะที่ผิดปกติให้เป็นจังหวะที่ปกติ และปกป้องกันเกิดการเต้นผิดจังหวะในครั้งต่อไป
  3. การใช้ยาละลายลิ่มเลือด โดยปกติผู้ป่วยจะเกิดลิ่มเลือดในหัวใจห้องบนได้ง่าย และเมื่อไหร่ก็ตามที่ลิ่มเลือดเกิดหลุดออกไป ก็สามารถทำให้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ตามอวัยวะสำคัญต่างๆ เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต ได้ เพราะฉะนั้นถ้ามีข้อบ่งชี้ แพทย์จึงจำเป็นต้องใช้ยาละลายลิ่มเลือดในกลุ่มนี้
  4. การใช้คลื่นความถี่ เข้าไปจี้บริเวณที่ส่งสัญญาณผิดปกติ โดยการใส่สายเข้าไปในเส้นเลือดคนไข้ ใช้คลื่นความถี่เพื่อตัดวงจรที่ส่งสัญญาณผิดปกติ และทำการจี้เข้าไป
  5. การผ่าตัด ผ่าตัดบริเวณเนื้อเยื่อของห้องหัวใจส่วนบนที่ส่งสัญญาณผิดปกติได้


ในปัจจุบันมีวิธีการป้องกันลิ่มเลือดนอกจากการใช้ยา โดยการใส่อุปกรณ์เข้าไปอุดบริเวณห้องหัวใจส่วนบนที่เป็นบริเวณที่เกิดลิ่มเลือดหัวใจได้บ่อยที่สุด
ในกรณีที่ผู้ป่วยหัวใจเต้นผิดจังหวะและสัญญาณชีพไม่คงที่ เช่น ความดันตก หรือมีอาการมากโดยที่ใช้ยาคุมไม่ได้ผล ผู้ป่วยมาโดยภาวะฉุกเฉิน จะมีการใช้ไฟฟ้ารีเซ็ตสัญญาณใหม่ เรียกว่า Cardioversion


ความรุนแรงของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ

ในกรณีที่เป็นเรื้อรังทำให้หัวใจต้องทำงานหนัก หรือเต้นเร็วตลอดเวลา เมื่อผ่านไประยะเวลานึง หัวใจที่บีบตัวดี จะเริ่มบีบตัวไม่ดี ทำให้เข้าสู่ภาวะหัวใจบีบตัวได้น้อย และเกิดน้ำท่วมปอดตามมาได้ ในกรณีที่เป็นมาก จะทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมปอดเรื้อรัง และอาจเสียชีวิตจากภาวะหัวใจวายได้


คำแนะนำในการป้องกันและดูแล

  1. งดสูบบุหรี่ พบว่าภายในปีแรกที่งดบุหรี่จะสามารถช่วยลดอัตราเสี่ยงภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของหัวใจเต้นผิดจังหวะ ได้ถึงครึ่งนึงของคนที่ไม่สูบ แต่ถ้าสามารถงดสูบได้ 2 ปีขึ้นไปก็จะมีลดความเสี่ยงได้เท่ากับคนปกติที่ไม่สูบ
  2. การออกกำลังกาย ในปริมาณที่ไม่มากเกินไป เช่น เดิน หรือวิ่งเหยาะๆ ในระยะเวลา 15 – 30 นาทีต่อวัน 5 วันต่อสัปดาห์
  3. หลีกเลี่ยง หรืองด ชา กาแฟ เครื่องดื่มชูกำลัง

การหลีกเลี่ยงจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ รวมถึงการเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เมื่อพบว่ามีความผิดปกติ ควรรีบมาพบแพทย์ ก็จะช่วยให้ห่างไกลจากโรคนี้ได้

25 ธันวาคม 2566

แพ็คเกจที่เกี่ยวข้อง

ดูทั้งหมด

บทความสุขภาพ

ดูทั้งหมด

แคลเซียมในหลอดเลือดหัวใจ (CT Coronary artery Calcium Scoring)

แคลเซียมหรือหินปูนที่หัวใจ นี้อาจเกาะอยู่ที่ผนังหลอดเลือด ที่ลิ้นหัวใจ หรือที่เยื่อหุ้มหัวใจ ที่ควรระวังคือหินปูนที่เกาะที่ผนังหลอดเลือดที่นำเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ ซึ่งเกิดจากการเสื่อมสภาพของหลอดเลือดแดง และจะเกิดขึ้นก่อนเกิดอาการของโรคหัวใจนานหลายปี จากการศึกษาพบว่าปริมาณแคลเซียมนี้สามารถทำนายโอกาสเกิดโรคหัวใจขาดเลือดได้ นอกเหนือจากปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ เช่นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง หรือการสูบบุหรี่ ภาวะแคลเซี่ยมเกาะที่หลอดเลือดนี้ จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิด กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันจากหลอดเลือดอุดตันเฉียบพลัน