ไวรัสโรต้า ผลกระทบต่อพัฒนาการของลูก
HIGHLIGHTS:
- เด็กวัย 6 เดือนถึง 2 ขวบ เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสโรต้ามากที่สุด
- เด็กที่ได้รับเชื้อไวรัสโรต้าจะมีอาการของโรคท้องเสียซ้ำๆ
- พ่อแม่สามารถให้ลูกน้อยรับการหยอดวัคซีนป้องกันไวรัสโรต้า เป็นการป้องกันโรคที่ดีที่สุด
ไวรัสโรต้า ผลกระทบต่อพัฒนาการของลูก
- เชื้อไวรัสโรต้ามีอันตรายต่อเด็กเล็กมากน้อยเพียงใด
- ไวรัสโรต้าติดต่อทางใด
เด็กที่ได้รับเชื้อไวรัสโรต้าและมีอาการของโรคท้องเสียซ้ำๆ ในช่วงวัย 1 – 2 ปี จะได้รับผลกระทบต่อร่างกายด้านต่างๆ เช่น ความสูงที่อาจจะต่ำกว่าเด็กทั่วไปถึง 8.2 เซนติเมตร
“ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีพ่อแม่มือใหม่หลายๆ คน ที่ยังขาดความรู้เท่าทันเชื้อไวรัสโรต้าและความรุนแรงของโรค คิดเพียงว่าเป็นโรคอุจจาระร่วงที่คนเมืองร้อนต้องประสบกันอยู่แล้ว ทำให้ขาดการเตรียมตัวและไม่สามารถปกป้องลูกน้อยได้อย่างถูกวิธี โดยเฉพาะเด็กวัย 6 เดือนถึง 2 ขวบ นับเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสโรต้ามากที่สุด ซึ่งมีการศึกษาวิจัยพบว่า เด็กแรกเกิดถึง 5 ขวบแทบทุกคนเคยติดเชื้อนี้กันมาแล้ว และมีถึง 1 ใน 10 รายที่อาจเป็นซ้ำๆ ได้ถึง 5 ครั้ง
จากผลการสำรวจพบว่า เด็กไทยอายุน้อยกว่า 5 ขวบที่นอนโรงพยาบาลจากท้องร่วงมีถึง 43 เปอร์เซ็นต์ที่เกิดจากเชื้อไวรัสโรต้า ไวรัสโรต้าเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดโรคอุจจาระร่วงรุนแรงในเด็กเล็กที่อาจคร่าชีวิตลูกน้อยได้ แถมยังเป็นตัวการบั่นทอนพัฒนาการ อาจทำให้ลูกน้อยเจริญเติบโตไม่สมวัย เนื่องจากเป็นเชื้อโรคที่แฝงกายไปอยู่ได้ทุกซอกทุกมุมรอบตัวเด็ก โดยเฉพาะของเล่น ซึ่งติดต่อได้โดยง่าย แม้จะป้องกันด้วยวิธีใดก็ตาม ก็ไม่สามารถต้านทานความร้ายกาจของมันได้ ซึ่งเด็กเล็กทุกคนถืออยู่ในภาวะเสี่ยง มีโอกาสติดเชื้อได้ทุกคน”
“อาการของเด็กที่ได้รับเชื้อไวรัสโรต้านั้น จะมีอาการถ่ายเหลวและอาเจียนอย่างหนัก จนเกิดภาวะขาดน้ำ ไม่สามารถรับประทานอาหารได้ และถ้าเป็นซ้ำๆ อาจทำให้ขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโต ส่งผลร้ายต่อพัฒนาการของเด็กอย่างมาก จนทำให้พัฒนาการของเด็กหยุดชะงัก ซึ่งเด็กในวัย 5 ปีแรก เป็นวัยแห่งพัฒนาการ ทั้งศักยภาพทางสมองและสมรรถภาพร่างกายกำลังเจริญเติบโตเต็มที่ ดังนั้นเมื่อไรที่เด็กท้องร่วงบ่อยๆ ย่อมส่งผลต่อพัฒนาการของเด็ก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเรียนรู้และความฉลาดของลูกน้อย รวมถึงการเจริญเติบโตของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นความสูงหรือน้ำหนักในอนาคตได้
มีการศึกษาวิจัยพบว่า เด็กที่ได้รับเชื้อไวรัสโรต้าและมีอาการของโรคท้องเสียซ้ำๆ ในช่วงวัย 1 – 2 ปี จะได้รับผลกระทบต่อร่างกายด้านต่างๆ เช่น ความสูงที่อาจจะต่ำกว่าเด็กทั่วไปถึง 8.2 เซนติเมตร ในวัยก่อน 7 ปี หรือความพร้อมต่อการเรียนรู้ช้ากว่าเด็กทั่วไปในช่วงวัยเรียน และยิ่งในเด็กที่ท้องร่วงซ้ำๆ ก่อนอายุ 2 ปี จะทำให้เด็กมีพัฒนาการทางสมองหรือไอคิวต่ำกว่าเด็กวัยเดียวกันถึง 10 จุด
นอกจากนี้การศึกษาวิจัยยังพบอีกว่า ท้องร่วงยังมีผลต่อภาวะขาดสารอาหาร ส่งผลกระทบทำให้น้ำหนักของเด็กบางคนเพิ่มขึ้นน้อยกว่าปกติ”
เพื่อป้องกันลูกให้ห่างไกลจากเชื้อไวรัสโรต้าให้มากที่สุด ควรต้องดูแลอย่างไร
“คุณพ่อคุณแม่สามารถพาลูกน้อยมารับการหยอดวัคซีนป้องกันไวรัสโรต้า ซึ่งถือเป็นวิธีป้องกันโรคที่ดีที่สุดในปัจจุบัน ทั้งนี้เพื่อป้องกันและลดความรุนแรงของโรค ซึ่งถ้าคุณพ่อคุณแม่สามารถป้องกันได้เร็วเท่าไร ก็ยิ่งเป็นการเสริมเกราะป้องกันให้เด็กห่างไกลจากโรคร้ายนี้เร็วขึ้น
วัคซีนป้องกันไวรัสโรต้ามี 2 ชนิด
คือ ชนิดที่ทำมาจากสายพันธุ์มนุษย์หยอด 2 ครั้ง จะให้หยอด เมื่อเด็กอายุ 6 สัปดาห์ขึ้นไปและ 4 เดือน (2,4 เดือน) ซึ่งจะทำให้ได้รับการป้องกันเร็วตั้งแต่ 4 เดือน” และสามารถครอบคลุมเชื้อได้ค่อนข้างกว้าง และชนิดที่ทำมาจากวัว หยอด 3 ครั้ง โดยวัคซีนที่กิน 3 ครั้งจะให้กิน 6 เดือน (2,4,6 เดือน) ซึ่งจะให้การป้องกันหลัง 6 เดือน …นอกจากนี้ยังมีวิธีง่ายๆ ที่คุณแม่สามารถป้องกันได้ด้วยตนเอง คือ ให้นมลูกอย่างน้อย 6 เดือน เพื่อให้เด็กมีภูมิคุ้มกันที่ดีอีกด้วย”
ข้อมูลจาก : พญ. หทัยทิพย์ ชัยประภา
25 ธันวาคม 2566