ตับอักเสบ
ตับอักเสบ (Hepatitis)
เป็นภาวะอักเสบที่เกิดบริเวณตับ อาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้ ตับอักเสบจากเชื้อไวรัส (ตับอักเสบเอ/บี/ซี/ดี/อี) ตับอักเสบจากยาและสารพิษ ตับอักเสบจากการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน ทำลายตับเอง ตับอักเสบจากการดื่มแอลกอฮอล์ ตับอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากแอลกอฮอลล์ ทำให้ตับเกิดความเสียหายจนเกิดอาการป่วยต่าง ๆ ตามมา หากตับอักเสบอย่างเรื้อรัง อาจทำให้การทำงานของตับผิดปกติ เกิดโรคตับแข็ง หรือเสี่ยงเป็นมะเร็งตับได้
อาการของตับอักเสบ
1. ตับอักเสบเฉียบพลัน
ตับอักเสบชนิดเฉียบพลันอาจไม่ปรากฏอาการอย่างชัดเจน หรืออาจสังเกตพบอาการได้ ดังต่อไปนี้
- รู้สึกเหนื่อย เมื่อยล้าตลอดเวลา
- ปวดท้อง
- ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ
- เบื่ออาหาร
- รู้สึกไม่สบาย มีไข้สูงตั้งแต่ 38 องศาเซลเซียสขึ้นไป
- คันตามผิวหนัง
- ปัสสาวะสีเข้ม, อุจจาระสีซีด
- ภาวะดีซ่าน หรือมีอาการตัวเหลืองตาเหลือง
2. ตับอักเสบเรื้อรัง
ตับอักเสบเรื้อรังอาจไม่พบอาการชัดเจนใด ๆ จนกระทั่งตับเริ่มทำงานได้ไม่เต็มที่หรือมีภาวะตับวาย ซึ่งอาจตรวจพบได้จากผลการตรวจเลือด หรืออาจมีอาการ เช่น ภาวะดีซ่าน ขา/เท้า/ข้อเท้าบวม รู้สึกสับสน อาเจียนหรืออุจจาระเป็นเลือด
+ ภาวะแทรกซ้อนของตับอักเสบ
ภาวะตับอักเสบ หากเกิดความเสียหายจนกระทบต่อการทำงานของตับ อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะตับวาย และมีภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายอื่น ๆ ได้ เช่น ภาวะเลือดออกผิดปกติ ท้องมาน ภาวะความดันสูงในระบบหลอดเลือดดำของตับ ภาวะไตวาย อาการทางสมองที่มีสาเหตุจากโรคตับ มะเร็งตับ และเสียชีวิตได้
+ การวินิจฉัยตับอักเสบ
ภาวะตับอักเสบอาจตรวจพบได้จากการตรวจสุขภาพประจำปีแล้วพบว่ามีค่าเอนไซม์ตับสูงผิดปกติ หรือมีอาการของตับอักเสบ โดยในเบื้องต้น แพทย์จะซักประวัติการเจ็บป่วย ตรวจร่างกาย และอาจมีการทดสอบอื่น ๆ เพื่อการวินิจฉัยร่วมด้วย เช่น การตรวจเลือด การตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้อง การเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อจากตับ เพื่อตรวจหาความผิดปกติของเซลล์และการอักเสบของตับ
+ การรักษาตับอักเสบ
วิธีการรักษาจะแตกต่างกันตามประเภท สาเหตุ และความรุนแรงของตับอักเสบ
+ การป้องกันตับอักเสบ
ตับอักเสบบางชนิดอาจไม่สามารถป้องกันได้ เช่น ตับอักเสบจากการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันมากเกินไป แต่ตับอักเสบจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น ตับอักเสบจากการติดเชื้อไวรัส หรือตับอักเสบจากการดื่มสุรา อาจป้องกันได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- รักษาสุขอนามัย ล้างมือให้สะอาด ไม่ใช้เข็มฉีดยา และของใช้ส่วนตัวอื่น ๆ ร่วมกัน ไม่สัมผัสเลือดหรือของเหลวจากผู้ที่ติดเชื้อไวรัสไวรัสตับอักเสบ เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อและการแพร่กระจายเชื้อไวรัสตับอักเสบ
- เลือกรับประทานอาหารปรุงสุก ดื่มน้ำต้มหรือน้ำสะอาด เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบต่าง ๆ
- มีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย การสวมถุงยางอนามัยจะช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ และป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ได้ด้วย
- การฉีดวัคซีนช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเอและบี
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และถูกหลักโภชนาการในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อป้องกันการสะสมของไขมันในตับ
- งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ควรปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์ทุกครั้งในการใช้ยา และควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบทุกครั้ง หากเป็นโรคตับหรือกำลังใช้ยาอื่น ๆ ร่วมด้วย
- เลือกอาหารเสริมอย่างรอบคอบ หากต้องการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วนก่อนบริโภคผลิตภัณฑ์ใด ๆ เสมอ
19 เมษายน 2566
พญ.หนึ่งฤทัย ภิรมย์
สาขา
อายุรศาสตร์ระบบทางเดินอาหาร