ติดต่อสอบถาม 038-320-300

ภาวะอ้วนอันตราย

นพ.จักรพันธ์ ศิริวงศ์มงคล

ภาวะอ้วนอันตราย

          โรคอ้วนเป็นปัญหาที่มีผลต่อร่างกายและจิตใจของผู้ป่วย รวมถึงมีผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจอย่างยิ่ง ตามการรายงานของ WHO พบว่า พ.ศ. 2559 มีผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน 1.9 พันล้านคน โดยมีการคาดหมายว่าในปี พ.ศ. 2578 อาจมีผู้มีภาวะน้ำหนักเกินและเป็นโรคอ้วนสูงถึง 4 พันล้านคน หรือคิดเป็น 50% ของประชากรโลก
สำหรับในประเทศไทย ข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข พบว่ามีผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนมากถึงร้อยละ 45.6 ในปี พ.ศ. 2563 และเพิ่มเป็นร้อยละ 46.2 ในปี พ.ศ. 2564 และร้อยละ 46.6 ในปี พ.ศ. 2565

          โรคอ้วนส่งผลต่อสุขภาพ โดยเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคไขมันเกาะตับ โรคหยุดหายใจขณะนอนหลับ โรคเข่าเสื่อม รวมไปถึงเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งหลายชนิด เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งเต้านม และมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกอีกด้วย โดยการรักษาโรคอ้วนมีหลากหลายวิธี เช่น การควบคุมอาหารและการออกกำลังกาย การใช้ยาลดน้ำหนัก การส่องกล้องใส่บอลลูน การส่องกล้องเย็บกระเพาะอาหาร และการผ่าตัด


          ข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดรักษาโรคอ้วน 
          BMI > 35 โดยไม่คำนึงว่ามีโรคประจำตัวที่เกี่ยวข้องกับโรคอ้วนหรือไม่
          BMI > 30 และมีโรคประจำตัวที่เกี่ยวข้องกับโรคอ้วนและเมตาบอลิซึม 
ในประชากรเชื้อสายเอเชีย ผู้ป่วยที่มีค่า BMI > 27.5 ควรได้มีทางเลือกในการรักษาโดยการผ่าตัด ผลการรักษาระยะยาวของการผ่าตัดโรคอ้วน  ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพที่ดี ผู้ป่วยโรคอ้วนที่เป็นเด็กและวัยรุ่น หากพิจารณาอย่างเหมาะสมสามารถทำการผ่าตัดรักษาได้


          การผ่าตัดในปัจจุบัน แบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่
  1. การผ่าตัดลดขนาดกระเพาะอาหาร (Sleeve gastrectomy)
  2. การผ่าตัดลดขนาดกระเพาะอาหารร่วมกับการทำบายพาส (Roux-en-Y Gastric Bypass)
  3. การผ่าตัดลดขนาดกระเพาะอาหารร่วมกับการลัดทางเดินอาหาร (Sleeve gastrectomy + Gastric small intestine anastomosis)

          ผลที่เกิดขึ้นภายหลังการผ่าตัด
  1. น้ำหนักตัวลดลง เป้าหมายหลักนั้นเพื่อที่จะลดน้ำหนักให้กลับมาสู่ระดับปกติ หรือ ที่ค่าดัชนีมวลกายน้อยกว่า 25 กิโลกรัม/เมตร (BMI < 25) น้ำหนักจะลดลงมากน้อยเท่าไหร่นั้น ขึ้นอยู่กับชนิดของการผ่าตัด และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหารและการออกกำลังกายของผู้ป่วยเป็นหลัก ส่วนใหญ่แล้วค่าน้ำหนักตัวที่ลดลงจะคิดเป็นร้อยละของน้ำหนักตัวที่ลดลง หรือคิดเป็นร้อยละที่ลดลงของน้ำหนักส่วนเกินจากน้ำหนักที่ควรจะเป็น โดยทั่วไป การผ่าตัดสามารถทำให้น้ำหนักตัวลดลงได้ เฉลี่ยประมาณร้อยละ 25-45 
  2. สุขภาพดีขึ้นทั้งทางร่างกายและจิตใจ ภายหลังการรักษาโดยการผ่าตัด นอกจากสามารถลดน้ำหนักตัวลงแล้ว ยังทำให้โรคร่วมที่เกิดจากความอ้วนดีขึ้นหรือหายขาดได้อีกด้วย และที่สำคัญคือ อายุขัยเฉลี่ยสูงขึ้น และคุณภาพชีวิตดีขึ้น
 

26 ธันวาคม 2566

นพ.จักรพันธ์ ศิริวงศ์มงคล

ความชำนาญ : ศัลยศาสตร์, การผ่าตัดกระเพาะอาหารเพื่อลดน้ำหนัก

แพ็คเกจที่เกี่ยวข้อง

ดูทั้งหมด